บั้นปลายชีวิตและมรดกตกทอด ของ ปีแยร์ รอซีเย

Portrait of a Siamese woman, ประมาณ ค.ศ. 1861. การพิมพ์ภาพแบบอัลบูเมน

ค.ศ. 1861 รอซีเยอยู่สยาม เขาทำงานร่วมกับมารี ฟีร์แม็ง บอกูร์ นักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศส ช่วยถ่ายภาพทางชาติพันธุ์วรรณนาให้คณะสำรวจด้านวิทยาศาสตร์ของบอกูร์ระหว่าง ค.ศ. 1861–1862 และใน ค.ศ. 1863 เนเกรตตีและแซมบรา ได้ตีพิมพ์ชุดภาพถ่ายสามมิติของบุคคลและภาพทิวทัศน์ในสยามจำนวน 30 รูป ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผลงานของรอซีเยอย่างไร้ข้อกังขา[12] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1862 รอซีเยกลับเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง เขาขายกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพก่อนลงเรือกลับยุโรป[23] ระหว่างที่เขาอยู่ในทวีปเอเชีย เป็นไปได้ว่ารอซีเยไปถ่ายภาพในอินเดียด้วย สันนิษฐานจากที่ เนเกรตตีและแซมบรา ตีพิมพ์ภาพชุดทิวทัศน์อินเดียในช่วงเวลาเดียวกับภาพถ่ายทิวทัศน์จีนของรอซีเย[12]

รอซีเยเดินทางกลับถึงสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงต้น ค.ศ. 1862 และได้สมรสกับแคเทอริน บาร์บ เคลิน (ค.ศ. 1843–1867) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1865 ทั้งคู่มีบุตรชื่อ คริสต็อฟ มารี ปีแยร์ โฌแซ็ฟ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1866 ต่อมาแคเทอรินเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1867

รอซีเยยังดำเนินกิจการสตูดิโอถ่ายภาพในฟรีบูร์จนกระทั่ง ค.ศ. 1876 เป็นอย่างน้อย เขายังมีสตูดิโอในในเมืองไอน์ซีเดิลน์ และระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1860 ถึงคริสต์ทศวรรษ 1870 เขาผลิตภาพถ่ายสามมิติและการ์ตเดอวีซิตอันประกอบด้วยภาพบุคคลและภาพทิวทัศน์ของเมืองฟรีบูร์, ไอน์ซีเดิลน์ และสถานที่อื่น ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาใน ค.ศ. 1871 ลาลีแบร์เต หนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสจากเมืองฟรีบูร์ลงโฆษณาโดยเสนอภาพถ่ายงานจิตรกรรมทางศาสนาของศิลปินที่ชื่อ เม็ลชีออร์ เพาล์ ฟ็อน เดชวันเดิน ซึ่งรอซีเยเป็นผู้ถ่าย[24] ใน ค.ศ. 1872 รอซีเยจัดแจงขอหนังสือเดินทางเพื่อเดินทางไปยังฝรั่งเศส คาดว่าเขาอาจถ่ายภาพที่นี่ จากนั้นในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง ค.ศ. 1871 ถึง 1884 เขาสมรสอีกครั้ง ภรรยาคนที่ 2 ชื่อ มารี วีร์ฌีนี ออแวร์แน ซึ่งเป็นคนรับใช้ของเจ้าของที่ดินของสตูดิโอเขา ทั้งคู่มีบุตรชายชื่อ โฌแซ็ฟ หลุยส์ ซึ่งเกิดในปารีสเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1884 ต่อมาบุตรคนนี้ไปมีร้านกาแฟในเมืองเวอแว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเสียชีวิตใน ค.ศ. 1927

ปีแยร์ รอซีเย เสียชีวิตในปารีสในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี ค.ศ. 1883 ถึง 1898[4]

ภาพถ่ายทิวทัศน์สวิตเซอร์แลนด์จำนวนหนึ่งของรอซีเยได้รับการจัดเก็บไว้ในสถาบันและงานสะสมส่วนบุคคลหลายแห่งในประเทศ รอซีเยถ่ายภาพทิวทัศน์จีนและญี่ปุ่นในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ปัจจุบันภาพถ่ายเหล่านั้นหาดูได้ยาก บางครั้งเขาก็บ่นเรื่องผลกระทบทางลบของภูมิอากาศต่อสารเคมีสำหรับถ่ายภาพของเขา และภาพเนกาทิฟบางภาพอาจได้รับความเสียหายระหว่างทางจากทวีปเอเชียไปยังลอนดอน แม้ภาพถ่ายของรอซีเยจะหลงเหลืออยู่ไม่มากนักในปัจจุบัน แต่เขาก็มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์สมัยเริ่มแรกของวิชาการถ่ายภาพในทวีปเอเชีย ก่อนเขาถึงญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1859 นักเรียนวิชาการถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นมักติดขัดในการผลิตผลงานถ่ายภาพให้น่าพึงพอใจ แต่ประสบการณ์ คำสอน และการติดต่อกับผู้จัดส่งวัตถุดิบสำหรับการถ่ายภาพของรอซีเยนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาขนบการถ่ายภาพในลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่น

ใกล้เคียง

ปีแยร์-แอเมอริก โอบาเมอย็องก์ ปีแยร์-ซีมง ลาปลัส ปีแยร์ กูว์รี ปีแยร์ รอซีเย ปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต ปีแยร์ กอลแมซ ปีแยร์ ฟัน โฮยโดงก์ ปีแยร์ เดอ แฟร์มา ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ ปีแยร์วาล